การเป็นหัวหน้าที่ดีนั้น จะเก่งแค่ในด้านการบริหารจัดการอย่างเดียวก็คงจะไม่ได้ เพราะเรื่องที่สำคัญไม่แพ้สิ่งอื่นใดในการทำธุรกิจก็คือ การรักษาความสัมพันธ์ รวมถึงการชี้แนะคนในทีมให้ทำงานได้อย่างตรงเป้าหมาย และมีประสิทธิภาพ
หัวหน้าส่วนใหญ่มักจะสั่งงาน มอบหมายงานให้ลูกน้องทำ แล้วก็จบไป โดยไม่เข้าใจว่าลูกน้องคนไหนเหมาะกับงานแบบใด หรือมีเทคนิคยังไงให้ลูกน้องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ซึ่งถ้าหัวหน้าคนไหนกำลังสงสัยอยู่ว่าจะทำยังไงให้ลูกน้องทำงานได้ดีขึ้นกว่าเดิม ก็ลองเอาเคล็ดลับทั้งหมดนี้ไปปรับใช้กันได้เลย
เชื่อมั่นในตัวพนักงาน
พนักงานย่อมไม่มีความมั่นใจ และทำงานออกมาดีไม่ได้ ถ้าขนาดหัวหน้าทีมยังไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งตรงนี้คนเป็นหัวหน้าทุกคนต้องสร้างความรู้สึก และทัศนคติที่ดีให้เกิดขึ้นในการทำงาน ทำให้มั่นใจ และเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง ทำให้พนักงานรู้ว่าเขาเป็นคนที่มีความสามารถ อาจจะบอกให้เขารับรู้ก็ได้ว่าเราเชื่อมั่นเขาตรงไหน เพราะอะไร และมอบหมายงานที่เกี่ยวข้องกับความสามารถตรงนั้นไปเท่านั้นก็พอ
ตั้งเป้าหมายให้กับทีม
การตั้งเป้าหมายนับเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการที่คนในทีมรู้ว่าเป้าหมายของงานนี้ หรือของบริษัทคืออะไร จะทำให้เขาทำงานออกมาได้ตรงกับที่เราคาดหวังมากที่สุด ส่งผลให้งานออกมาถูกใจ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าทุกคนที่จะบอกให้คนในทีมทราบถึงมาตรฐานการวัดความสำเร็จที่ชัดเจนขององค์กร หรือทราบถึงเป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงาน
ไม่รอพนักงานเดินเข้ามาหา
หัวหน้าที่จะสร้างขวัญและกำลังใจให้ลูกน้อง กระตุ้นการทำงานของพวกเขาได้ คือหัวหน้าที่เดินเข้าหา ไม่ใช่รอให้ลูกน้องเป็นฝ่ายเริ่ม การให้เวลากับคนในทีมจะทำให้เขาเกิดความมั่นใจ และรู้ว่าคุณจะอยู่เป็นที่ปรึกษาให้กับเขาไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม อาจจะเริ่มจากการสอบถามว่าเขาเจอกับปัญหาอะไรบ้าง เพื่อให้รู้ว่าเราใส่ใจในงานชิ้นนั้นๆ และให้ความสำคัญกับตัวเขาเช่นกัน
ให้ฟีดแบคกับลูกน้องตลอด
การคอมเมนท์ลูกน้องจะเป็นการกระตุ้นการทำงานได้อย่างดีอีกวิธีหนึ่ง เพราะการมอบฟีดแบคจะทำให้ลูกน้องรู้ว่าเราให้ความสำคัญ และจับตาดูเขาอยู่ ไม่ใช่ปล่อยให้เขาทำงานแบบตัวใครตัวมัน การที่พนักงานรู้จุดอ่อนของตัวเองก็จะทำให้เขาพัฒนาตัวเองได้ง่ายขึ้น ไวขึ้น และเก่งขึ้น ส่งผลให้การทำงานดีขึ้นอีกด้วย
ให้คำชมและตำหนิอย่างมีชั้นเชิง
ไม่ว่าใครก็ต้องอยากได้คำชมกันเป็นธรรมดา ซึ่งคำชมเหล่านี้จะเป็นเหมือนกำลังใจที่จะช่วยผลักดันให้เขาสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำงานออกมาดีขึ้นกว่าเดิม การชมที่ดี ควรชมต่อหน้าคนเยอะๆ เพื่อให้พนักงานเกิดความภาคภูมิใจ เช่น การประกาศพนักงานดีเด่นประจำเดือน เป็นต้น
ส่วนการตำหนินั้น ควรที่จะพูดกันแค่ 2 คน ไม่ควรที่จะตำหนิต่อหน้าพนักงานคนอื่น เพราะอาจทำให้เกิดความอับอาย และเกิดความรู้สึกด้านลบกลับมา
—
ที่มาและเจ้าของ : จากบทความทางโซเชียลมีเดีย (หากใครทราบเจ้าของบทความนี้ แจ้งมาได้ เรายินดีเพิ่มเครดิตลงในบทความนี้)